พุทธศาสนากับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ตอนที่2)

พุทธศาสนากับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 2)
....... ตอนนี้เป็นตอนต่อจากตอนที่แล้ว.....
น้องๆ ก็คงใจเต้นตุ้มๆต่อมๆ ...เมื่อไหร่อ.อุดมจักลงบทความเตรียมสอบกันซะที 
เป็นอันว่าบทความนี้เป็นบทความต่อจากตอนที่ 1 และก็จะลงอีก 1 บทความเกี่ยว "พุทธศาสนากับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก" ก็คงจะพอกระมังครับ เพราะส่วนหนึ่งก็เรียนกันไปในชั้นเรียนบ้างแล้ว ...
แต่คงมีสิ่งหนึ่งที่น้องๆอยากจะทราบมากกว่าข้อมูลการเตรียมตัวสอบ นั่นก็คือผลการประเมินก่อนเรียนของอาจารย์ที่ให้ทำทั้งหมด 6 ข้อ เอ๊าเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา คลิ๊กดูเรียกน้ำย่อยกันก่อนแล้วกัน...เอ๊า
และให้นักศึกษาที่ผลงานส่งไม่ครบถ้วนตามประกาศด้านล่างนี้
นำงานส่งอ.อุดมทางอีเมล์นะครับ ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ย้ำ คะแนนนี้ไม่มีผลต่อการให้คะแนนสอบปลายภาคนะครับ อย่างไรก็ตามอาจารย์ก็จะส่งให้ อาจารย์ชาญนรงค์ ทำนนำไปพิจารณาต่อไป ส่วนท่านจะไปชั่งกิโลขายหรือทำลายเป็นกระดาษรีไซเคิลก็ไม่ได้ผิดกฏระเบียบอะไร แต่ว่าควรส่งให้ครบทุกคนจะดีกว่าไหม คลิ๊กดูรายชื่อแล้วกันนะจ๊ะ.....ใครยังไม่ส่งงานอ.อุดมก็วานๆบอกกันไปนะ



แนวคิดระบบทุนนิยมของนักปราชญ์ชาวพุทธ
.....มีนักปราชญ์จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ได้พูดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพุทธ และที่สำคัญจะออกเป็นแนวแบบพอเพียง พออยู่พอกิน พระไพศาล วิสาโล ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้กล่าวถึงระบบทุนนิยมเปรียบเทียบกับแนวคิดทางพุทธศาสนาไว้อย่างน่าฟัง กระผมขอจับมาใส่ตารางจับคู่ให้ตรงกันเพื่อให้เห็นแนวคิดชันเจนขึ้น.....

ทัศนะทุนนิยม
แนวคิดทางพุทธศาสนา
การกระตุ้นความโลภและเน้นประโยชน์ส่วนตน ทุนนิยมมีทัศนะว่าความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมให้มาก ๆ เพื่อจะได้เกิดความเจริญ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ริเริ่มให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามแนวคิดของอเมริกาเมื่อปี ๒๕๐๔ จอมพลสฤษดิ์ พบว่าคำสอนของพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องการสันโดษ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก จอมพลสฤษดิ์จึงมีคำสั่ง ขอร้องพระทั่วประเทศว่าอย่าสอนเรื่องสันโดษ เพราะจะขัดขวางการเจริญเติบโตของประเทศ
ความคิดเช่นนี้ต่างจากพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เพราะพุทธศาสนาเชื่อว่าแม้มนุษย์เรามีความเห็นแก่ตัว แต่เราไม่ควรกระตุ้นความโลภหรือกระตุ้นการแสวงหากำไรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจะกลายเป็นโทษต่อสังคมในระยะยาว พุทธศาสนาจึงมุ่งลดความเห็นแก่ตัวให้เหลือน้อยที่สุดหรือควบคุมให้อยู่ในขอบเขต

การเน้นเรื่องตลาดและเอากำไรเป็นตัวตั้ง ทำให้แทบทุกอย่างถูกแปรเป็นสินค้า จนแม้แต่ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา มนุษย์ ก็กลายเป็นสินค้าที่ตีค่าเป็นตัวเงิน หรือเอามาซื้อขายได้
แต่พุทธศาสนาเห็นว่าเศรษฐกิจหรือเงินตรามิใช่เรื่องใหญ่ที่สุดของชีวิต และไม่มองว่าจำเพาะสิ่งที่ตีค่าเป็นตัวเงินได้เท่านั้นที่สำคัญ มีหลายสิ่งในชีวิตที่ตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่มีความสำคัญมาก เช่น คุณธรรม ความศรัทธาในสิ่งดีงาม ความรัก ความเมตตา ความซื่อสัตย์
การเน้นเรื่องการผลิตเพื่อการซื้อขาย ทุนนิยม ไม่สนับสนุนการผลิตเพื่อเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือการพึ่งตนเอง ใครทำอะไรได้ ต้องเอาไปขาย ไม่ควรทำให้คนอื่นฟรี ๆ หรือพึ่งตนเองจนไม่ซื้อจากใครเลย
แต่พุทธศาสนาเห็นว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการให้ทานแก่กัน ขณะเดียวกันก็เห็นว่าการพึ่งตนเองเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่าตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน แม้ว่าการพึ่งตนในที่นี้จะไม่ได้เจาะจงในเรื่องเศรษฐกิจก็ตาม
การเน้นเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าเสรีภาพในการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก การบริโภคและการซื้อขาย รวมถึงเสรีภาพในทรัพย์สินส่วนบุคคล โดยถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของเสรีภาพมนุษย์
พุทธศาสนาเห็นต่างจากทุนนิยม เพราะเชื่อว่าเสรีภาพที่แท้จริงเป็นเสรีภาพภายใน เป็นเสรีภาพในทางจิตใจมากกว่า ถ้าไร้เสรีภาพในทางจิตใจแล้วเราก็กลายเป็นทาสของเงิน และเป็นทุกข์เพราะวัตถุได้อย่างง่ายดาย
การเน้นความสุขที่เกิดจากการบริโภคและครอบครองวัตถุ โดยมองข้ามความสุขทางจิตใจที่ไม่อิงวัตถุ

พุทธศาสนายอมรับความสุขจากการใช้ทรัพย์ รวมทั้งความสุขจากการไม่มีหนี้ แต่พุทธศาสนาเห็นว่ายังมีความสุขที่ลึกไปกว่านั้น เป็นความสุขที่นอกเหนือจากการมีทรัพย์หรืออาสมิส ได้แก่นิรามิสสุขคือสุขที่ไปพ้นจากวัตถุสิ่งเสพ

แนวความคิดโดยภาพรวมเรื่อง "สันโดษ" กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

....
หลวงวิจิตรวาทการท่านว่า ที่ประเทศไทยพัฒนาไม่เท่าเทียมนานาอารยประเทศเขา มีความบกพร่องฉกาจฉกรรจ์อยู่ข้อหนึ่งคือ เพราะพระสงฆ์มัวพร่ำสอนแต่ให้ประชาชนมักน้อย สันโดษ ได้เท่าไรมีเท่าไรพอใจแค่นั้น ทำให้เป็นคนไม่กระตือรือร้น ทำงาน งอมืองอเท้า

ผมบอกเพื่อนไปว่า อย่าได้เชื่อหลวงวิจิตรวาทการมากนัก หลวงวิจิตรวาทการอาจเป็นที่เชื่อถือได้ด้านอื่น แต่ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาแล้วให้ฟังๆ ไว้เท่านั้น ทรรศนะทางศาสนาที่ท่านผู้นี้แสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นบทความปาฐกถาหรือคำปราศรัยของผู้นำประเทศที่ตนเป็นผู้ร่างให้ อาจมิใช่จากความรู้จริงๆ ที่ท่านได้เล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ก็ได้ อาจเป็นเพียง การปรับหรือ เบนทิศทางเพื่อให้เอื้ออำนวยแก่การเอาตัวรอดก็เป็นได้ พูดให้ชัดก็คือบิดเบือนพระพุทธศาสนาเพื่อประจบเจ้านาย

เมื่อ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติใหม่ๆ ท่านผู้นี้แสดงทรรศนะออกมาอย่างชัดแจ้งว่าการปฏิวัติเป็นการดี พระพุทธเจ้าเองก็ทรงสรรเสริญการปฏิวัติในปฐมเทศนา (เทศน์กัณฑ์แรก) ที่ทรงแสดงแก่พระเบญจวัคคีย์ พระองค์ตรัสว่า โลเก อัปปฏิวัตติยัง การปฏิวัติที่ดีต้องเป็นปฏิวัติที่ผู้อื่นล้มไม่ได้ (เผด็จการตลอดกาล !)

จากวาทะอันคมคายนี้ ทำให้ท่านได้บำเหน็จรางวัลด้วยตำแหน่งปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นพลเรือนคนเดียวที่ได้เป็นนายพลตรี

บรรดาหลักธรรมพุทธศาสนาที่มีผู้เข้าใจกันไม่ถูกต้อง นอกจากเรื่องหลักกรรมแล้ว สันโดษก็เป็นเรื่องหนึ่ง ความคลาดเคลื่อนอาจจะมาจากคำพูดที่ติดปากคนไทยว่า สันโดษมักน้อยหรือ มักน้อยสันโดษก็เป็นได้ การตีความแบบสร้างค่านิยมในแง่ลบ คือแฝง การไม่กระทำหรือ ความเกียจคร้านอยู่ในตัว ไม่ต้องทำ ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องการมาก ต้องการน้อยๆ อยู่ไปวันๆ ผลที่ตามมาก็คือความเฉื่อยแฉะ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน งอมืองอเท้า ซึมเซื่อง ปล่อยตามบุญตามกรรม ไม่คิดสร้างสรรค์ พูดง่ายๆ ก็ว่าเป็นมนุษย์ไม่เอาไหน

ถ้าสันโดษของพระพุทธเจ้าหมายถึงอาการอย่างที่ว่ามานี้ ก็น่าจะถูกประณามว่า พระองค์สอนไม่เอาไหน สอนสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา คนพัฒนาประเทศอย่างร้ายแรง ใช้ไม่ได้จริงๆ

แต่สันโดษจริงๆ มันเป็นอย่างไร ?
ลองหันไปดูตำราดูบ้างเป็นไร ในตำราท่านให้ความหมายของ สันโดษไว้ว่า

ยินดีตามที่หามาได้, ยินดีเท่าที่หาได้ด้วยความบากบั่นของตน (ยถาลาภสันโดษ)
ยินดีตามกำลังสามารถที่หามา, มีสติกำลังเท่าไรทุ่มเทลงไปได้เท่าไรก็พอใจ (ยถาพลสันโดษ)
ยินดีในสิ่งที่หามาได้โดยชอบธรรม, ของที่ได้มาเป็นผลของการสร้างสรรค์ของตน โดยวิธีการที่ชอบธรรม ไม่ทุจริตฉ้อโกงเขามา (ยถาสารุปปสันโดษ)

สรุปให้เข้าใจว่า สันโดษคือความพึงพอใจในผลสำเร็จ หรือผลได้ที่ตนสร้างขึ้นด้วยความบากบั่น ด้วยการทุ่มเทพละกำลังทั้งหมดลงไปและโดยชอบธรรม
วิธีจะเข้าใจสันโดษดีอีกอย่างหนึ่งคือ ให้ดูสิ่งที่ตรงข้ามกับสันโดษและคุณธรรมที่สนับสนุนสันโดษ 
สิ่งที่ตรงข้ามกับ สันโดษคือ
(1) การเบียดเบียนกันเพราะอยาก แต่ไม่อยากกระทำ
(2) การทุจริตเพราะอยากได้ของคนอื่น
(3) ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยแต่ไม่ชอบทำงาน
(4) การทอดทิ้งละเลยไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงาน
(5) ความกระวนกระวาย เร่าร้อนเห่อเหิมทะยานอยากไม่พอใจตลอดเวลา
(6) ความเกียจคร้านเฉื่อยชา

คุณธรรมที่สนับสนุนสันโดษ คือ วิริยารัมภะหรือการปรารภความเพียร ถือเอาความง่ายๆ คือ การตั้งหน้าตั้งตาพยายามปฏิบัติหน้าที่การงานไม่หยุดยั้ง
จากการนิยามความหมายของสันโดษ จากการมองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับสันโดษและคุณธรรมที่สนับสนุนสันโดษ 
เราพอจะมองเห็นลักษณะของคนที่มี สันโดษดังต่อไปนี้
(1) คนสันโดษ จะต้องเป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร และด้วยสติปัญญาเท่าที่เหมาะสมกับภาวะของตนและโดยชอบธรรม
(2) คนสันโดษ จะไม่อยากได้ของคนอื่นหรือของที่ไม่ชอบธรรม ไม่ทุจริตเพราะปากท้องหรือเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว
(3) เมื่อหามาได้ก็ใช้สอยของที่ได้มาเท่าที่จำเป็นและด้วยสติปัญญา ไม่กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น
(4) เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยได้สำเร็จตามต้องการ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนไปได้
(5) ไม่ถือเอาสิ่งที่ตนหามาได้ สมบัติของตนหรือความสำเร็จของตนมาเป็นเหตุยกตนข่มขู่ผู้อื่น
(6) หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตนหรือเป็นสิทธิของตน สามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขในทุกฐานะที่ตนเข้าถึงในขณะนั้นๆ

(7) มีความภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากกำลังของตน มีความอดทนสามารถคอยผลสำเร็จที่จะพึงเกิดขึ้นจากการกระทำของตน
(8) มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน



บทความนี้ยังไม่สมบูรณ์อาจารย์จะมาต่อตอนงานไม่ยุ่ง....
ตอนนี้ตรวจสอบคะแนนประเมินก่อนสอบส่งเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ก่อน คลิ๊กตรวจสอบได้เลย
ใครที่ยังไม่ส่งก็ให้ส่งเพิ่มเติมนะครับ 



3 ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ3 ตุลาคม 2555 เวลา 16:37

    ขอบคุณอีกครั้งค่ะ อาจารย์ มาลงตอนต่อไปไวๆนะคะ รออยู่ค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ6 ตุลาคม 2555 เวลา 19:55

    ครูค่ะ จะอีกนานไหมที่ผู้มีบทบาทในบ้านเมืองจะหันมาสนใจเรื่องเหล่านี้ เพราะจริงๆหนูว่าเรื่องนี้สำคัญมากเลย
    เคยมีโอกาสได้อ่านตำราประกอบคำบรรยายวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย ตอนพระพุทธศาสนากับสังคมไทยที่สอนโดยสมเด็จพระสาสนโสภณ
    ปี ๒๕๑๔ ของ ม.ธรรมศาสตร์ พบว่าก็มีการบรรจุ เรื่อง สันโดษ ลงไว้เป็นประเด็นหลักอย่างชัดเจนมากเลย แต่ก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมปัจจุบันเรื่องหลักธรรม สันโดษ ถึงเมีน้ำหนักน้อยมากคิดว่าคงไม่ใช่เพราะไม่มีคุณกับระบบสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมแต่คงเป็นเพราะบางคนที่ไม่รู้จักพอก็เลยต้องพยายามแปลงความหมายหรือผลักหลักธรรมสันโดษออกจากวิถีชีวิตเดิมของคนไทยเพื่อตัวเองหรือพรรคพวกจะได้แสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์และไม่รู้เท่าทันของผู้คนได้อย่างถนัดถนี่

    ตอบลบ
  3. เขียนได้ดีนะเนี้ยลูกๆอ.ชาญนรงค์..ใช้ได้ๆๆ
    อาจารย์เคยดูทีวีช่อง 3 เค้ามีรายการหนึ่งชื่อว่า "ไทยแลนด์ก๊อดทาเลน ซีซั่น 2" (เขียนถูกอะเปล่าไม่รู้นะ) ก็เคยคิดว่าสักวันหนึงฟ้าจะสางทางจะชัด พุทธศาสนากับการพัฒนเศรษฐกิจจะกลับมาแบบ ซีซั่น 2 จะย้อนกลับมาให้ผู้บริหารประเทศได้ใส่ใจและเดินไปตามแนวทางแบบพอเพียงกับตัวเองซะที เมื่อนั่นแหละพวกเราจะได้เห็น พุทธศาสนาฯซีซั่น 2 เบ่งบานทั่วประเทศ โดยไม่ต้องรอยุคของพระศรีอริยเลย และไม่ต้องมีกรรมการตัดสินกันเลยทีเดียว..หึ..ซักวัน..ซักวัน ช่วยกัน

    ตอบลบ
แสดงความคิดเห็น
ใหม่กว่า เก่ากว่า