"ชีวิตครอบครัว" ตามแนวทางพุทธศาสนา (ตอนที่ ๑)

"ชีวิตครอบครัว"
ในทัศนะทางพุทธศาสนา



          ในยุคที่สังคมบีดรัดด้วยค่าครองชีพที่แสนจะโหดร้ายในปัจจุบัน หลักธรรมที่ครวแนะนำสำหรับนำมาปลอบประโลมจิตใจในชีวิตครอบครัวให้กระชุ่มกระชวย...ขอนำมากล่าวไว้ ๒ หมวดเล็กๆ ก็แล้วกันนะครับ   ประจวบเหมาะกับช่วงการเมือง(บ้านเมือง)ที่แสนจะสับสนวุ่นวาย..กลายเป็นปัญหาสังคมการเมืองที่ยากจะเยียวยา การที่เราเข้าร่วมกลุ่มโน้นมั้งกลุ่มนี้มั้ง...ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการเข้าร่วมสร้าง(ปัญหา)หรือร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหากันแน่...ตราบใดที่สังคมยังไร้ซึ่งความไว้วางใจซึ่งกันและกันโอ๊ว..เมืองไทย....สยามเมืองยิ้มสูญสิ้นคำขวัญดีๆ ซะแว้ว.....
....ก่อนที่เราจะพูดถึงหลักธรรม ก็ต้องมาเรียนบริบทการดำเนินชีวิตตามแนวทางพุทธศาสนาก่อนดีไหมครับ ขอย้อนกลับไป(เล่าความหลังเริ่มแก่แหละ)..เอาเป็นว่าไม่ต้องย้อนกลับไปมากหรอกครับ..เอาแค่เริ่มกำเนิดโลกและจักรวาลตามคัมภีร์พุทธศาสนาก็แล้วกัน เอ้า..เอ้า..อันนี้พูดไปแล้วครับในหัวข้อการเมือง เอาแค่สังคมอินเดียโบราณเป็นต้นมาก็พอครับ เราคงไม่พูดถึงการแบ่งชั้นวรรณะในอินเดียกันแล้ว เพราะเราเรียนมาตั้งแต่หัวยังไม่หงอกจนหงอกไปทั้งหัวแล้ว สังคมอินเดียโบราณจะดำเนินชีวิตในรูปแบบของหลักศาสนาฮินดู(พราหมณ์) นั้นก็คือหลักอาศรม ๔  ประกอบไปด้วย
               ๑. วัยพรหมจาริน (Brahmacharin) หรือ วัยเรียน, วัยพรหมจรรย์
              
๒. วัยคฤหัสถ์ (Grihastha) หรือ วัยครองเรือน
              
๓. วัยวานปรัสต์ (Vanaprastha) หรือ วัยอยู่ป่า
              
๔. วัยสันยาสิน หรือ สันยาสี (Sannyasin) หรือ วัยแสวงหาความสงบ

          จากหลักการดำเนินชีวิตแบบอาศรม ๔ นี้ อินเดียโบราณประเพณีฮินดู จะให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวและชีวิตที่หลุดพ้นอย่างเท่าเทียมกัน จะพบแนวคิดนี้ได้จากแบบแผนหรือขั้นตอนการดำเนินชีวิตตามคัมภีร์พระเวทของฮินดู (อาศรม) ซึ่งประกอบด้วยวัยพรหมจารี (วัยแห่งการศึกษา) วัยคฤหัสถ์ (การครองเรือนมีบุตรสืบสกุล) วัยวานปรัสถ์ (การปลีกออกจากเรือนแสวงหาความสงบให้บั้นปลายของชีวิต) และสุดท้าย สันยาสี (ช่วงเวลาแห่งการสัญจรและเผยแพร่สัจธรรม) สำหรับชาวฮินดู ชีวิตมีลำดับขั้นตอนที่ต้องผ่านตามช่วงเวลาที่เหมาะสม  การมีครอบครัวเป็นคุณธรรมเชิงศาสนาอย่างหนึ่งเพราะตระกูลต้องได้รับการสืบทอดให้มั่นคงยาวนานสืบไป  แต่ก็ไม่ปิดกั้นชีวิตอย่างอื่นเสียทีเดียว คือยอมให้มีชีวิตบั้นปลายที่ไม่ต้องอยู่กับครอบครัว แต่การจะทำเช่นนั้นได้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัวให้ครบถ้วนก่อน คือการมีบุตรไว้สืบสกุล การมีบุตรสืบสกุลจะเปิดโอกาสให้ชีวิตได้ผ่อนพักและสัมผัสกับมิติอื่นที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตวิญญาณ ดังนั้น ชีวิตด้านการศึกษา (พรหมจรรย์) และชีวิตการครองเรือน (แต่งงานและมีบุตรสืบทอดวงศ์ตระกูล) จึงเป็นพันธะเบื้องต้นของการดำรงชีวิตแบบฮินดู การแสวงหาสัจธรรมและการเที่ยวสั่งสอนโมกขธรรมเป็นภารกิจของชีวิตในเบื้องปลายที่จะเกิดขึ้น หลังจากได้จัดการชีวิตด้านโลกีย์ของตนไว้อย่างถูกต้องมั่นคงแล้ว การสละบ้านเรือนออกบวชขณะที่ยังไม่มีบุตรดำรงวงศ์ตระกูลนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับกันไม่ได้ ในวิธีแนวคิดแบบฮินดู ลำดับชีวิตทุกขั้นตอนได้ถูกจัดวางไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว ชีวิตต้องเป็นไปตามลำดับเวลา


               เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเสด็จออกผนวชทำให้เห็นว่า พระองค์เห็นชีวิตครอบครัวมีความสำคัญน้อยกว่าการออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น และยังแสดงว่า ครอบครัว หรือ วิถีชีวิตของครอบครัว เป็น อุปสรรค ต่อการหลุดพ้นจากทุกข์อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตอีกด้วย คำอุทานของเจ้าชายสิทธัตถะที่ว่าราหุลเกิดแล้วก็ดี การที่พระองค์ประทับยืนทอดพระเนตรพระโอรสที่ธรณีประตูเพราะเกรงว่าพระชายาจะตื่นบรรทมก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัว (ในที่นี้คือ บุตรและภรรยา) เป็นพันธะของชีวิต ความในพระดำริที่ว่า วันนี้ เราควรละทิ้งการครองเรือนออกบวชไปแสวงหาความดับ (นิพพาน) แสดงให้เห็นว่า หากปรารถนาจะค้นพบนิพพานจำเป็นต้องละการครองเรือน (ครอบครัว) ซึ่งความในโพธิราชกุมารสูตร ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การตรัสรู้และการพ้นทุกข์นั้น ไม่เพียงแต่ "กาย"ของบุคคลเท่านั้นที่จะต้อง หลีก ออกจากกาม "ใจ"ก็ต้องหลีกออกจากกาม เช่นเดียวกัน และต้องระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลงและความกระหายกระวนกระวายในกามได้อย่างเบ็ดเสร็จด้วย หากกายและใจไม่ได้หลีกออกจากกาม ไม่ว่าบุคคลจะทรมานตนอย่างสาหัสเพียงใด หรือไม่ทรมานตนให้เป็นทุกข์สาหัสเลยก็ตาม "การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม" นั้นก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เปรียบเสมือนบุรุษที่ต้องการไฟ ไม่สามารถใช้ไม้สดที่ชุ่มด้วยยางและจมอยู่ในน้ำ หรือไม้สดที่อยู่บนบกมาสีให้เกิดไฟได้ แต่ต้องใช้ไม้แห้งที่อยู่บนบกห่างจากน้ำ เท่านั้น (ม.ม.13/329-331) ภาพอารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกอย่างเย็นชาต่อโอรสและมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากบรรดาสตรีนิยมว่า   มันคือภาพของ "บุรุษที่มุ่งการหลุดพ้นจนปราศจากหัวใจ"1


               อย่างไรก็ตาม...ถ้าเรายึดเอาแบบแผนตามคำสอนของพราหมณ์พระเวทเป็นตัวตั้ง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะสละชีวิตครอบครัวออกบวช พระองค์ได้ละเมิดหลักการของพราหมณ์พระเวทอย่างน้อย 2 ประการด้วยกันคือ พระองค์ละทิ้งหน้าที่ในคฤหัสถาศรม ละทิ้งการสืบวงศ์ตระกูลต่อจากพระบิดา (หน้าที่ของบุตรแห่งตระกูล)และไม่เลี้ยงดูพระโอรสที่เพิ่งประสูติ (หน้าที่ของบุพการี) ยิ่งหลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็เห็นและให้ความสำคัญกับชีวิตที่ไม่มีทุกข์ (นิพพาน) อันจะเกิดขึ้นนอกปริมณฑลครอบครัวมากกว่าชีวิตในครัวเรือนอันเป็นทุกข์เพราะเหตุแห่งกามารมณ์(แนวคิดแบบอินเดียโบราณ) ภายหลังตรัสรู้พระองค์จึงทรงกลับกรุงกบิลพัสดุเพื่อสอนเรื่องที่ผลกระทบทางจิตใจต่อพระเจ้าสุทโธทนะ


พระวินัยเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงนำนันทกุมาร(พระอนุชา)ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าพิธีวิวาหมงคลอย่างจำยอม และพาราหุลกุมารออกบวช โดยไม่ได้ขออนุญาตจากพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางยโสธรา   เรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดความโทมนัสอย่างยิ่งแก่พระเจ้าสุทโธทนะ จึงเข้าเฝ้าขอพรจากพระพุทธเจ้าว่า ขอให้พระสงฆ์บวชเฉพาะบุคคลผู้ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้วเท่านั้น  นี่คือคำกราบทูลของพระเจ้าสุทโธทนะ

เมื่อพระองค์ (พระพุทธเจ้า) ทรงผนวช หม่อมฉันมีทุกข์ไม่น้อย เมื่อพระนันทะบวชก็เช่นเดียวกัน ครั้นราหุลบรรพชา ก็ยิ่งเกิดทุกข์เหลือประมาณ  พระพุทธเจ้าข้า ความรักในพระโอรสย่อมตัดผิว ตัวผิวแล้วก็ตัดหนัง ตัดหนังแล้วก็ตัดเนื้อ ตัดเนื้อแล้วก็ตัดเอ็น ตัดเอ็นแล้วก็ตัดกระดูก ตัดกระดูกแล้วก็ตัดเนื้อเยื่อในกระดูก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงให้บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตบรรพชา (วิ.ม.4/105)


            ตามข้อความนี้ พระเจ้าสุทโธทนะจะทรงอ้างถึงความรักที่บิดามารดามีต่อบุตรไม่ได้ทรงอ้างถึงการสืบตระกูล ข้ออ้างนี้แสดงให้เห็นข้อตำหนิติติงว่าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ควรจะต้องให้ความสำคัญกับสายใยของผู้คนภายในครอบครัว ชีวิตครอบครัวไม่เพียงแค่การตอบสนองต่อกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามสถานะบทบาท หากมีปัจจัยที่เชื่อมร้อยชีวิตครอบครัวไว้ซึ่งก็คือ ความรัก ที่พ่อแม่มีต่อบุตรหลานของตน พระเจ้าสุทโธทนะทรงแสดงให้เห็นความรักในพระโอรสของผู้เป็นบิดามารดา (นัยหนึ่งคือความรักระหว่างคนภายในครอบครัว) นั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะมันตัดลึกลงไปถึงเยื่อในกระดูก พร้อมทั้งทรงเสนอแนะว่า อารมณ์ความรู้สึก ของคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และสงฆ์จะต้องใส่ใจ การทำหน้าที่ของสงฆ์ตามพระวินัย (ของพระพุทธเจ้า) จะต้องไม่ทำลายความรักความผูกพันของคนในครอบครัว กรณีนี้เป็นที่มาที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยให้ผู้บวชต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน (วิ.ม.4/105)พระวินัยปิฎกเล่าว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงประสบผลสำเร็จอย่างมากในการเผยแพร่คำสอนที่แคว้นมคธ แต่ชาวเมืองได้พากันประณามตำหนิพระองค์และโพนทะนาว่า พระสมณโคดมปฏิบัติเพื่อให้ชายไม่มีบุตร เพื่อให้หญิงเป็นหม้าย และเพื่อความขาดสูญแห่งตระกูล (วิ.ม.4/63)หรือจะพูดเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายก็ประหนี่งว่า "ทำให้สตรีเป็นหม้าย ผู้ชายเป็นหมัน สูญสิ้นความสัมพันธ์เชิงสังวาส" คำโจมตีเหล่านี้หากเป็นบริบทอื่นคงไม่ใช่เรื่องรายร้ายอะไรมากนัก แต่หากเป็นสังคมอินเดียโบราณ ซึ่งให้ความสำคัญกับครอบครัวอย่างยิ่งยวดตามบทบัญญัติของศาสนาพราหมณ์ฮินดู การออกจากเรือนเพื่อแสวงหา "สัจจะ" พระเวทอนุญาต แต่ต้องทำหน้าที่การสืบสกุลให้สมบูรณ์เสียก่อน ข้อนี้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญข้อแรก อันนำไปสู่การบัญญัตพระวินัยสงฆ์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าด้วย "ปฐมบทแห่งปาราชิก" (ห้ามภิกษุมีเพศสัมพันธ์)นั่นเอง 
                 ถึงแม้สิ่งที่พระองค์บัญญัติในครั้งพุทธกาลจะถูกมองไปอีกมุมในบริบทของสังคมอินเดียก็ตาม แท้จริงเราจะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงหลักธรรมมากมายที่ให้พุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญต่อครอบครัวอย่างยิ่งยวด และในสิ่งที่แสดงออกเป็นรูปธรรมอย่างเช่น พระอัครสาวกของพุทธเจ้าอย่างพระสารีบุตรนั้น ท่านทราบว่าตนเองจะปรินิพพานภายใน ๗ วัน จึงได้พิจารณาว่า"เราควรจะปรินิพพานที่ไหนดี" และรำลึกถึงมารดา และปราถนากลับไปปรินิพพานที่บ้านเกิด และถือโอกาสช่่วงสุดท้ายของชีวิตแสดงธรรมตอบแทนคุณมารดาซึ่ง "การตอบแทนคุณของมารดา" เป็นข้อผูกพันของพระสารีบุตรตั้งแต่วันออกบวชจนถึงวาระสุดท้าย ถึงแม้มารดาจะแสดงท่าทีเมินเฉยเพราะไม่พอใจตั้งแต่พระสารีบุตรออกบวชหนำซ้ำยังพาน้องชายออกบวชไปอีกคน มารดาก็ยังเมินเฉยทั้งๆทีบุตรชายกำลังอาพาธ ข้อนี้ก็แสดงให้เห็นว่า "ความขัดแย้งระหว่างชีวิตครอบครัวกับชีวิตสมณะในบริบทของสังคมอินเดีย" เมื่อท่านแสดงธรรมโปรดมารดาจนบรรลุโสดาบันแล้ว จึงดำริในใจว่า "เพียงเท่านี้ก็นับตอบแทนคุณมารดา ผู้ที่ฟูมฟักเลี้ยงดูอย่างถนุถนอมแล้ว" และท่านก็สิ้นใจปรินิพพาน........
                  เอาหละ..ครับพี่น้องครับ...เฮ้ยๆๆน้องๆๆครับ ตอนนี้คิดว่าคงจะพอเห็นบริบทของสังคมอินเดียในสมัยครั้งพุทธกาลพอสมควร เพื่อกระซับเวลา เราหันมาพิจารณาหลักธรรมตามที่องค์สมเด็จพระผุ้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสไว้เมื่อ ๒๐๐๐กว่าปีที่ผ่านมา และขอข้ามบริบทของสังคมไทยในสมัยสุโขทัยอยุธยาข้ามมายุค ๒๕๕๗ เลยแหละกันสั้นๆจบ.. นำมาเล็กน้อยที่สมควรแก่การนำมาดำรงชีวิตในบริบทของสังคมไทยที่กำลังวุ่นวายกันดีกว่า 
๑. หลัก"โภควิพาก๔ "
           สำหรับธรรมะตามหลักพุทธศาสนาสำหรับครอบครัวที่เหมาะในสถานการณ์ปัจจุบันนี้  ผู้เขียนคิดว่าไม่มีอันไหนจะเหมาะไปกว่าการ ออม และการ ประหยัด แล้ว(จะเกิดกลียุคเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของเงินให้มากที่สุด ขอนำเอาหลักโภควิภาค ๔ ได้แก่การจัดสรรทรัพย์ที่หามาได้  แบ่งสำหรับใช้สอยเป็นของใช้และของกินให้ถูกตามหลักพุทธศาสนามาฝากก็แล้วกันครับ มี่สี่ ส่วน ได้แก่
                                ส่วนที่หนึ่ง :  เอเกน โภคัง ภุญเชยย  (On one part he should live and do his duties towards others.) ส่วนนี้ก็คือ การเก็บไว้ใช้สำหรับเลี้ยงคนที่ควรบำรุงได้แก่บิดามารดา 
                       ส่วนที่สอง - สาม : ทวีหิ กัมมัง ปโยชเย  (With two parts he should expand his business.)  สองส่วน ใช้ลงทุนประกอบอาชีพ และถ้าจะให้ประสบความสำเร็จในอาชีพ ก็ต้องใช้ ปาปณิกธรรมสามอย่างใช้ควบคู่กันไปด้วย  ได้แก่ จักขุมา เป็นคนมีหูตาไว วิธูโร  มีความขยันขันแข็ง นิสสยสัมปัณโณ ให้ความสำคัญแก่ลูกค้าที่มาติดต่อ
                               ส่วนที่สี่ :  จตุตฺถัญจะ นิธาเปยยะ And he should save the fourth for a rainy day.)อีกหนึ่งส่วนเก็บไว้ในคราวจำเป็น  หากทำธุรกิจขาดทุน ล้มละลาย อาจจะได้ใช้ส่วนนี้ เข้ามาทดแทนได้
                คนโบร่ำโบราณของไทย ได้นำเอาหลักธรรมการแบ่งทรัพย์มาขยายความให้ชัดเจนขึ้นเป็นสี่ส่วนอย่างชาญฉลาด ดังนี้
                          ส่วนที่หนึ่งใช้หนี้เก่า หมายถึง ทดแทนบุญคุณมารดา บิดา ครูอาจารย์
                      ส่วนที่สอง ใส่ปากงูเห่า หมายถึง ภรรยามีรายก็ให้สามีใช้ด้วย สามีมีรายได้ก็ให้ภรรยาใช้ด้วย เอาใจใส่ซึ่งกันและกันด้วยความรักและความระมัดระวัง เปรียบเสมือนยื่นมือเข้าไปในปากงูเห่า หากประมาทพลาดพลั้งถูกเงี้ยวถึงแก่ชีวิตได้ ครอบครัวก็เช่นเดียวกันหากเผลอเลอไม่ใส่ใจตัวแล ครอบครัวแตกแยกและล่มสลายมานักต่อนักแล้ว
                   ส่วนที่สาม ฝังไว้ในดิน หมายถึง รู้จักเก็บออม ฝากธนาคาร รวมถึงการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยด้วย ค่อยทำอย่าให้ตนเองเกิดความโลภดังกลอนสุภาษิตโบราณที่ว่า 
                        น้ำไหลทีละน้อย....น้ำย้อยทีละหยด
                        จะไหลมากไหลน้อย...ไหลบ่อยๆ มันก็เต็ม 
ดังนี้ ก็ควรเก็บออมทรัพบ์ตามกำลังที่ตนเองหามาได้ ..และประการสุดท้าย
                        ส่วนที่สี่ ทิ้งลงเหว  หมายถึง การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ในส่วนนี้ต้องมีสติกำกับให้ดี เพราะเปรียบเสมือนเหว ที่ทิ้งเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม การกู้หนี้ยืนสินก็เช่นเดียวกัน เติมเท่าไหร่ก็ไม่มีเต็ม ใช้หนี้แล้วก็กู้อีกอยู่อย่างนี้ ก่อให้เกิดความเครียดตามมา จนตนเองต้องกลายเป็นโรคจิตไป ดังนั้นในส่วนของการทิ้งลงเหว ต้องแบ่งแยกออกให้ชัดเจนและใช้สติควบคุมมากๆ ในการใช้จ่ายสิ่งที่เป็นประโยชน์ และความสุขจะตามมา
         ความสุขที่จะตามมานั้น พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้เรียบร้อยแล้ว ควรศึกษาเป็นบรรทัดฐานของชีวิตเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติให้เป็นครรลองต่อไป 
                ครั้งหนึ่ง.....
                พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า
   "ดูก่อนคฤหบดี  สุข ๔ ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามควรได้รับตามกาลสมัยสุข๔ ประการ  คือ  อะไรบ้าง ?..." และพระองค์ก็ทรงแสดงธรรมให้กับอนาถบิณฑิกเศรษฐี   คือ
             ๑) อัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์ เป็นหลักประกันของชีวิต โดยเฉพาะความอุ่นใจ ปลาบปลื้มภูมิใจว่าเรามีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยกำลังของตนเอง 
             ๒) โภคสุข สุขเกิดจากการบริโภคทรัพย์ หรือใช้จ่ายทรัพย์ คือ รู้จักใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน เลี้ยงดูบุคคลอื่น และทำประโยชน์สุขต่อผู้อื่นและสังคม เป็นต้น
              ๓) อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นกังวลใจเพราะมีหนี้สินติดค้างใคร       

             จะเห็นได้ว่าการเป็นหนี้ บรรดาอีทั้งหลาย (อีออน อีซี่บาย อีมันนี่) แต่ก็มีอีหนึ่ง ที่เราไม่เคยกู้เลย แต่เราก็ต้องส่งดอกตลอดเวลา อี....นั้นได้แก่ ไม่ใช่ "อีแก่" นะครับ  เราเป็นปัญญาชนคนมีความรู้กันแล้วไม่เรียกอย่างนั้นแน่นอนไม่สุภาพและไม่บังควรอย่างยิ่ง ต้องเรียกว่า "อีแอทโฮม" ก็คือแม่บ้านเรานั่นเอง ต่อไปก็ให้เรียก อีแอทโฮม ถ้าหากใครได้สัมผัสอีเหล่านี้ จนถอนตัวไม่ขึ้นแล้วหละก็ จะสัมผัสกับความทุกตลอดเวลา..ผวากับเสียงโทรศัพท์คอยติดตามทวงหนี้ ยกเว้นอีสุดท้ายจะคอยเป็นกำลังใจและช่วยเหลือเราปลอบประโลม 
           4) อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่สุจริต ที่ใครจะว่ากล่าวติเตียนไม่ได้ มีความบริสุทธิ์ และมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของตน 
            พอสรุปหลัก "โภควิภาก ๔" ได้ว่า เมื่อไหร่เราจัดสรรการใช้สอยทรัพย์ได้อย่างเป็นระเบียบและเคร่งครัด ความสุขในครอบครัวในการดำเนินชีวิตก็จะตามมา แต่ถ้าหากครอบครัวไม่สามารถจัดสรรทรัพย์ได้ ความทุกข์ก็จะตามมา ดังนั้น "ความสุข" จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหลักการบริหารทรัพย์ข้างต้น เอาหละครับ..ฆราวาสอย่างผมพูดไปท่านอาจจะไม่เชื่อมัน ผมก็เลยขอนุญาต Phone in  (Skype) สนทนาธรรมกับท่านพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาซะเลย เพื่อให้โปรดน้องๆ นักศึกษารายวิชาปรัชญาทางพุทธศาสนา ให้เรียนรู้หลักการใช้จ่ายทรัพย์ตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปรับใช้สังคม (ตัดตอนเอาเฉพาะที่สาระเยอะๆต้องขออภัย) เชิญรับซมได้แล้ว ซะละละ.....

                 



--------------------------
1. ชาญณรงค์ บุญหนุน,ผศ.ดร.,เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชาปรัชญาทางพุทธศาสนา,มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๖.
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า