ระบบจริยธรรมชาวพุทธ
สำหรับหลักจริยธรรมในพระพุทธศาสนา
เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หมายถึง “ข้อปฏิบัติ วิธีการ หรือทางดำเนินชีวิตที่เป็นกลาง ๆ ตามธรรมชาติ
สอดคล้องกับธรรมชาติ
ไม่เอียงเข้าหาที่สุดสองข้างที่ทำให้พัวพันอยู่หรือเฉไฉออกไปนอกทาง” ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง หลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือที่เรียกง่าย ๆ “ทางสายกลาง”นี้ อาศัยหลักสัจธรรมซึ่งเป็น “มัชเฌนธรรมเทศนา”
(ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นกลาง ๆ ตามธรรมชาติ) ในที่นี้หมายถึง
ปฏิจจสมุปบาท ได้แก่
กระบวนธรรมแห่งการเกิดขึ้นพร้อมโดยอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลาย
หรือความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลในธรรมชาติ เป็นพื้นฐาน (พระธรรมปิฎก ๒๕๓๘ก: ๕๖๙-๕๗๐) จริยธรรมเป็นระบบแห่งการปฏิบัติที่สร้างขึ้น
หรือประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาสู่การปฏิบัติ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ
การหลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากมนุษย์ไม่เข้าใจธรรมชาติ (สัจธรรม)
ก่อนแล้วจึงวางหลักปฏิบัติ (จริยธรรม) ให้สอดคล้องกับหลักสัจธรรมนั้น โดยนัยนี้
สัจธรรมเป็นฐานรากของจริยธรรม จุดเชื่อมต่อระหว่างสัจธรรมและจริยธรรมก็คือความรู้หรือปัญญาความสามารถของมนุษย์
เมื่อมนุษย์พัฒนาความรู้จนสามารถเข้าใจสัจธรรมได้ก็จะสามารถวางระบบจริยธรรมได้อย่างถูกต้องและมีผลตามมุ่งหมาย
ข้อนี้อาจจะหมายความด้วยว่า
ถ้าเรารู้แจ้งการทำงานของกฎแห่งกรรมในฐานะกฎธรรมชาติและกฎทางศีลธรรม
เราย่อมวางแนวคิดเรื่องความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมทางสังคมที่ชัดเจนบนฐานแห่งกฎศีลธรรมอันเป็นสากลได้
แต่ในการอ้างเหตุผลเพื่อพิสูจน์ว่ากรณีใดเป็นธรรมหรือไม่ ในทางสังคมการเมือง
เราไม่อาจอ้างเหตุผลที่วางอยู่บนข้อจำกัดทางญาณวิทยาเช่นนั้น
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า
จริยธรรมทางพระพุทธศาสนาไม่ได้วางอยู่บนหลักคำสอนเรื่องกรรม โดยแท้จริงแล้ว
กฎธรรมชาติกับแบบแผนทางจริยธรรมของพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกัน
หลักมัชฌิมาปฏิปทา
ซึ่งประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ นั้น แบ่งออกเป็น ๓ หมวดตามระบบไตรสิกขา ดังนี้
๑.หมวดปัญญา
เกี่ยวข้องกับการอบรมปัญญาเพื่อเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
หรือเกิดความรู้แจ้ง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ
(ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๒.หมวดศีล
เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติสำหรับอบรมกาย วาจา ได้แก่ สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๓.หมวดสมาธิ
เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมจิตใจ การปลูกฝังคุณธรรม
การสร้างเสริมคุณภาพจิต ได้แก่ สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) สัมมาสติ
(ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ) (พระธรรมปิฎก ๒๕๓๘ก:
๖๐๑-๖๐๔)
พระธรรมปิฎกอธิบายว่า
สาระสำคัญของไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา)
แสดงตัวออกมาไม่เฉพาะที่การปฏิบัติของตัวบุคคลเท่านั้น
แต่ส่องถึงภารกิจที่มนุษย์จะต้องทำในระดับชุมชนสังคมด้วย กล่าวคือ
การจัดวางระบบแบบแผน จัดตั้งสถาบันและกิจการต่าง ๆ จัดแจงกิจกรรมและวิธีการต่าง ๆ
เพื่อให้สาระของไตรสิกขาเป็นไปในหมู่มนุษย์
หรือให้มนุษย์ดำรงอยู่ในสาระของไตรสิกขา โดยนัยนี้ ศีล (อธิสีลสิกขา)
จึงกินความถึงการจัดสรรสภาพแวดล้อมทางวัตถุและสังคมที่ปิดกั้นการกระทำชั่ว
และส่งเสริมโอกาสในการทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดระเบียบและระบบสังคม
โดยจัดวางหลักเกณฑ์ กฎข้อบังคับ บทบัญญัติต่าง ๆ เพื่อควบคุมความประพฤติของบุคคล
จัดกิจการของส่วนรวม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยดี เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการสร้าง “วินัย” นั่นเอง ส่วนสมาธิ (อธิจิตตสิกขา)
ระดับสูงสุด หมายถึงวิธีบำเพ็ญกรรมฐานแบบต่าง ๆ แต่เมื่อมองอย่างกว้าง ๆ
ในครอบคลุมทุกระดับ กินความถึงวิธีการและอุปกรณ์ต่าง ๆ
ที่จะช่วยชักจูงจิตใจคนในสังคมให้สงบ ให้มีจิตใจยึดมั่นและมั่นคงในคุณธรรม
เร้าใจให้ฝักใฝ่และมีวิริยะอุตสาหะในการสร้างความดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ตลอดจนอุบายต่าง ๆ ในการสร้างเสริมคุณภาพจิตของคน ส่วนปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)
โดยเคร่งครัด หมายถึงวิปัสสนาภาวนา แต่เมื่อมองให้กว้างตามสาระและจุดมุ่งหมาย
ได้แก่ กิจกรรมฝึกปรือความรู้ความคิดซึ่งเรียกว่าการศึกษาเล่าเรียนทั้งหมด
ซึ่งต้องอาศัยกัลยาณมิตร มาช่วยถ่ายทอดความรู้และความจัดเจนด้านต่าง ๆ
ทั้งแนะนำให้สามารถในการไตร่ตรองด้วยตนเองได้
เพื่อจะได้รู้จักมองโลกและชีวิตอย่างรู้เท่าทันความจริง
ที่จะช่วยให้วางท่าทีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง (อ้างแล้ว,
๖๐๔-๖๐๖) หลักมัชฌิมาปฏิปทา
หรือหลักทางสายกลางที่เป็นระบบจริยธรรมของพระพุทธศาสนาตามนัยนี้จึงครอบคลุมเรื่องส่วนบุคคลและสังคมมนุษย์
ระบบจริยธรรมทั้งหมดที่พระพุทธศาสนาวางไว้นี้ก็เพื่อจุดหมายหรือประโยชน์
(อรรถ /อัตถะ) สำคัญของชีวิตนั่นเอง จุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ของชีวิตตามคำสอนของพระพุทธศาสนามี
๓ ประการคือ
๑.
ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในชีวิตนี้หรือประโยชน์ปัจจุบัน
เป็นจุดมุ่งหมายขึ้นต้นหรือประโยชน์เฉพาะ
ข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ทางสังคมหรือชีวิตประจำวัน (โลกธรรม) ได้แก่ ลาภ
ยศ สุข สรรเสริญ หรือทรัพย์สิน ฐานะ เกียรติ ไมตรี หรือชีวิตคู่ครองที่เป็นสุข
เป็นต้น
รวมถึงการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ในวิถีทางที่ถูกต้องชอบธรรม
การปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง
การใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อทำตนและคนเกี่ยวข้องให้มีความสุข การอยู่ร่วมกันด้วยดี
ปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้องในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเพื่อความสุขร่วมกัน
๒.
สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ข้างหน้า
หรือประโยชน์ที่ล้ำลึกยิ่งกว่าประโยชน์เฉพาะหน้าหรือผิวเผินภายนอก
เกี่ยวกับด้วยชีวิตด้านใน หรือประโยชน์ด้านคุณค่าของชีวิต
เป็นจุดมุ่งหมายที่สูงขึ้นไปเป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกไป หรือเป็นเครื่องประกันการได้คุณค่าที่สูงล้ำกว่าสิ่งที่จะพึงได้ตามปกติในชีวิตนี้
ได้แก่ ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจ ที่ก้าวหน้าเติบโตด้วยคุณธรรม
ความใฝ่ใจในทางศีลธรรม การสร้างกุศลหรือสิ่งที่ดีงาม
เป็นประโยชน์ด้านที่ผ่อนคลายความยึดติดในวัตถุหันมาให้คุณค่าแก่คุณธรรมดีงาม รู้จักทำการด้วยความใฝ่ธรรม
รักความดีงาม รักคุณภาพชีวิตและความเจริญงอกงามทางจิตใจ
๓. ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่งยวด
หรือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต
เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดหรือจุดมุ่งหมายสุดท้ายของชีวิต ได้แก่
การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม
ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต มีจิตใจโปร่งใสอิสระ
ไม่ถูกบีบคั้นขัดข้องจำกัดด้วยความยึดมั่นหวาดหวั่นของตนเอง
ปราศจากกิเลสที่ทำให้เศร้าหมองขุ่นมัว อยู่อย่างไร้ทุกข์
ประจักษ์แจ้งความสุขที่ประณีตภายใน สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิง ประกอบด้วยความสงบเยือกเย็น
สว่างไสวเบิกบานโดยสมบูรณ์เรียกว่า วิมุตติ หรือนิพพาน (อ้างแล้ว, ๕๙๔-๕๙๕)
ประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายทั้ง
๓ ระดับนี้ล้วนมีความสำคัญในระบบจริยธรรมของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงยอมรับความสำคัญของประโยชน์ทุกระดับ โดยสัมพันธ์กับเป้าหมายความเป็นอยู่
การครองชีวิต สภาพแวดล้อม และความพร้อมของแต่ละบุคคล และตามทัศนะของพระพุทธศาสนา
บุคคลควรจะดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างน้อยถึงขั้นที่ ๒
ชีวิตที่ดีในพระพุทธศาสนาไม่ใช่ชีวิตที่เพียบพร้อมด้วยผลประโยชน์ทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว
หากรวมถึงชีวิตที่เชื่อในสิ่งที่ดีงาม มีสิ่งดีงามยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศรัทธาสัมปทา)
มีระเบียบวินัยตามสมควรแก่การดำเนินชีวิต (ศีลสัมปทา)
รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (จาคสัมปทา) และชีวิตที่มีวิจารณญาณ
ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา รู้เท่าทันโลกและชีวิต
(ปัญญาสัมปทา) (อ้างแล้ว, ๕๙๕-๕๙๖) จากแง่มุมนี้
พระพุทธศาสนาคำนึงถึงประโยชน์ที่มนุษย์จะพึงได้รับไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ด้านโภคทรัพย์หรือวัตถุเท่านั้น
หากยังรวมถึงประโยชน์ด้านจิตใจหรือคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ
รวมทั้งโอกาสที่มนุษย์จะได้พัฒนาตนเองสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งเป็นประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในระบบจริยธรรมของพระพุทธศาสนา
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมด้วย
เพราะปัญหาเรื่องความเป็นธรรมเกี่ยวข้องกับการดำรงสัมพันธภาพอันเที่ยงธรรมและมีศานติสุข
เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นเราจะดำรงไว้ซึ่งสันติได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ
มนุษย์จะดำเนินชีวิตไปอย่างไร
ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่ามนุษย์จะสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยวิธีใดด้วย
คำถามที่ว่าราควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรและจะสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไรนั้นเป็นประเด็นสำคัญในจริยศาสตร์
การประเมินค่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ของชีวิตและสังคม
การจัดหลักมัชฌิมาปฏิปทา (อริยมรรค) เป็น ๓
หมวดดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญของระบบจริยธรรมในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ
พระพุทธศาสนาจัดวางระบบจริยธรรมครอบคลุมกับองค์ประกอบของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ พฤติกรรมทางกายวาจา
(ศีล) สภาพจิตใจ (สมาธิ) และความรู้ (ปัญญา)
ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของการกระทำทางศีลธรรม (กรรม) คือ
ความรู้ (ทิฏฐิ) เจตนา (ความริเริ่ม)และการกระทำหรือพฤติกรรมที่แสดงออก
เนื่องจากการจัดวางระบบจริยธรรมมีจุดมุ่งหมายคือปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดี (ประโยชน์ทั้ง
๓ ระดับ) ดังกล่าวมานั้น ในด้านหนึ่ง ระบบจริยธรรมจึงต้องถูกจัดวางไว้ในเงื่อนไข
(สาเหตุ) ที่จะส่งผล (วิบาก) ในทางที่คาดหวังว่าจะทำให้เกิดผลดีแก่ผู้ปฏิบัติ
กล่าวคือ ต้องเป็น”สัมมาปฏิปทา”
(การปฏิบัติที่ถูกต้อง) มิใช่ “มิจฉาปฏิปทา” (การปฏิบัติที่ผิด)
การปฏิบัติที่ถูกต้องเริ่มจากด้านในคือด้วยความเห็นและการดำริที่ชอบ
อีกด้านหนึ่งก็จัดวางระบบจริยธรรมส่วนวินัยหรือศีล
อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม นี่คือหลัก “ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใส” นั่นเอง
ถ้าพิจารณาระบบจริยธรรมในพระพุทธศาสนา
โดยถือเอาหลักปฏิจจสมุปบาทและหลักกรรมเป็นฐาน
สาระที่พระพุทธศาสนานำมาจัดวางเป็นระบบจริยธรรมโดยถือว่าเป็นส่วนที่ควรปฏิบัติได้แก่
ส่วนที่สอดคล้องกับปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร (ฝ่ายดับ)
และสอดคล้องกับกฎแห่งกรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ด้วยเหตุว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะช่วยให้บุคคลบรรลุถึงความสุขหรือประโยชน์ที่สำคัญสำหรับชีวิต
นี่คือส่วนที่ควรถือปฏิบัติ ส่วนที่เป็นกระบวนธรรมตามธรรมชาติฝ่ายสมุทยวาร
(ฝ่ายเกิด/ทุกข์) และกฎแห่งกรรมฝ่ายอกุศลนั้น
จะนำมาเป็นข้อกำหนดห้ามในพระวินัยหรือศีล โดยถือว่าเป็นข้อที่ไม่ควรละเมิดหรือไม่ควรทำเพราะจะนำไปสู่ทุกข์
ระบบจริยธรรมของมนุษย์ต้องสัมพันธ์กับเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์และเป้าหมายของชีวิต
ขณะเดียวกันสอดคล้องกับกฎธรรมชาติและกฎแห่งกรรมที่เป็นพื้นฐานของชีวิต
ปัจจัยหลักสองอย่างนี้จะขาดเสียมิได้1
ระบบจริยธรรมแบบครบวงจร2
ระบบจริยธรรมต้องมีความสัมพันธ์กับข้ออื่นๆส่งต่อเป้าหมายเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์เป็นทอดๆ เสมอกันไป ดังนั้นจริยธรรมทุกข้อต้องมีเป้าหมายตามจุดมุ่งหมายนั้น ว่าเพื่ออะไร เพื่อผลอะไร ในที่นี้จะพูดถึงด้านความสัมพันธ์
จริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวจนบางครั้งถ้าไม่มากระทบกับตัวเอง ก็ไม่รับรู้สึกสัมผัสอะไร จึงเห็นได้ว่าคนเราต้องมีเรื่องกับตัวเองซะก่อน..ว่างั้น จึงจะหันมาสนใจก็พอสรุปมูลเหตุที่มนุษย์เราจะให้ความสนใจจริยธรรม ๒ ประการ ตามนัยท่านอาจารย์เจ้าคุณพระธรรปิฏว่า
๑. เรื่องๆนั้นมันมากระทบตนเองอย่างรุนแรง
๒. เรื่องๆ นั้นมันแปลกประหลาดผิดวิสัยที่มันควรจะเป็น
ปัญหาจริยธรรม จึงกลายเป็นปัญหาที่คนที่มาแก้ไขให้เกิดขึ้นในสังคมต้องเป็นประเภท รวดเร็ว ว่องไว ใส่ใจ และให้เห็นผล เพราะปัญหามันไปเร็วมาก เพราะถ้ามัวแต่เชื่องช้า..สังคมก็จะห่างจากระบบจริยธรรมออกไปเรื่อยๆ หากเราต้องการสร้างสังคมใน "อุดมคติ" ขึ้นมา เราต้องรีบมาช่วยกันครับ เพราะสังคมปัจจุบันนี้ จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นรุมเร้าประเทศไทย ทั้งทางด้านสังคม และการเมือง มันคงจะพอเดาได้ไม่ยากว่าเป็น "สังคมอันไม่พึงประสงค์" ซะแล้ว.....
พระธรรมปฏิกได้กล่าวถึง จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในชาติ การแสดงออกโดยเสรีก็ต้องสัมพันธ์กับการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นไปด้วย ต้องมี "แกน" ที่ชัดเจนก่อน เช่น เราต้องการแสวงหาปัญญา มองหาความถูกต้อง เหตุผลก็ต้องคู่กับความรู้จริง สังคมใดก็ตามที่มีการแสดงออกโดยเสรีอย่างเคร่งครัดควบคู่ไปกับการยอมรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน จะเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัยและเรียบร้อยมาก ยกตัวอย่างเด่นๆ เช่น อเมริกา และประเทศญี่ปุ่น (จากภาพสื่อข่าวสารต่างๆ เราจะเห็นความเป็นระเบียบวินัยของ๒ประเทศนี้เด่นชัดมาก)
๑. เรื่องๆนั้นมันมากระทบตนเองอย่างรุนแรง
๒. เรื่องๆ นั้นมันแปลกประหลาดผิดวิสัยที่มันควรจะเป็น
ปัญหาจริยธรรม จึงกลายเป็นปัญหาที่คนที่มาแก้ไขให้เกิดขึ้นในสังคมต้องเป็นประเภท รวดเร็ว ว่องไว ใส่ใจ และให้เห็นผล เพราะปัญหามันไปเร็วมาก เพราะถ้ามัวแต่เชื่องช้า..สังคมก็จะห่างจากระบบจริยธรรมออกไปเรื่อยๆ หากเราต้องการสร้างสังคมใน "อุดมคติ" ขึ้นมา เราต้องรีบมาช่วยกันครับ เพราะสังคมปัจจุบันนี้ จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นรุมเร้าประเทศไทย ทั้งทางด้านสังคม และการเมือง มันคงจะพอเดาได้ไม่ยากว่าเป็น "สังคมอันไม่พึงประสงค์" ซะแล้ว.....
พระธรรมปฏิกได้กล่าวถึง จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในชาติ การแสดงออกโดยเสรีก็ต้องสัมพันธ์กับการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นไปด้วย ต้องมี "แกน" ที่ชัดเจนก่อน เช่น เราต้องการแสวงหาปัญญา มองหาความถูกต้อง เหตุผลก็ต้องคู่กับความรู้จริง สังคมใดก็ตามที่มีการแสดงออกโดยเสรีอย่างเคร่งครัดควบคู่ไปกับการยอมรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน จะเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัยและเรียบร้อยมาก ยกตัวอย่างเด่นๆ เช่น อเมริกา และประเทศญี่ปุ่น (จากภาพสื่อข่าวสารต่างๆ เราจะเห็นความเป็นระเบียบวินัยของ๒ประเทศนี้เด่นชัดมาก)